RSS

วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การจัดการปัญหาที่เกิดกับสนามหญ้า

การจัดการปัญหาที่เกิดกับสนามหญ้า


การจัดการแก้ไขปัญหาที่พบในสนามหญ้าพื้นที่โครงการ ปัญหาที่พบจะคล้ายกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับพืชพรรณในโครงการ ปัญหาหลักจะเป็นปัญหาวัชพืช โรคและแมลงศัตรูพืชเข้าทำลาย การจัดการแก้ไขและการดูแลรักษาสนามหญ้าจึงเป็นสิ่ง สำคัญในงานภูมิทัศน์


ก. การจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วๆ ไป
ปัญหาที่พบในพื้นที่โครงการเกี่ยวกับปัญหาทั่วๆ ไปจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับการให้น้ำสนามหญ้าไม่ทั่วถึง ปัญหาเกี่ยวกับการตัดหญ้า ดังนั้นคนดูแลสวนควรมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้
1.1 การให้น้ำสนามหญ้า การให้น้ำสนามหญ้าหากไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อปฏิบัติที่ถูกต้องจะทำให้เกิดผลเสียต่างๆ ที่จะตามมาภายหลัง การให้น้ำในปริมาณมากๆ ใช่ว่าจะทำให้สนามหญ้ามีการเจริญเติบโตที่ดี หรือการให้น้ำในปริมาณที่น้อย ก็ใช่ว่าจะทำให้หญ้าสนามสวนงามได้ หากให้น้ำในปริมาณมากๆ จะทำให้สนามหญ้าตายได้และเกิดโรคได้ง่าย หากให้น้ำในปริมาณน้อยๆ ก็จะทำให้สนามหญ้าได้รับน้ำไม่เพียงพอทำให้สนามหญ้าตายหรือการเจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอ ข้อปฏิบัติที่ถูกต้องในการให้น้ำสนามหญ้า
1.2 การตัดหญ้า การตัดหญ้าสนามมีความสำคัญไม่ต่างไปจากการให้น้ำสนามหญ้า หากไม่รู้ถึงขั้นตอนปฏิบัติก่อนการตัดหญ้า หรือขณะปฏิบัติการตัดหญ้า การตัดหญ้าก็เป็นสาเหตุทำให้สนามหญ้าตาย หรือเกิดโรคตามมาภายหลัง ขั้นตอนในการปฏิบัติก่อนการตัดหญ้าสนาม และหลักการตัดหญ้าที่ถูกวิธี

ข. การจัดการกำจัดวัชพืช
การจัดการกำจัดวัชพืชในพื้นที่โครงการ เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องมีการจัดการให้ถูกต้องและถูกวิธี เพื่อที่จะลดปัญหาในส่วนของสนามหญ้าของพื้นที่ การจัดการกำจัดสนามหญ้ามีหลักปฏิบัติอยู่ 3 วิธี คือ
1.การจัดการกำจัดวัชพืชโดยวิธีกล เป็นการควบคุมกำจัดวัชพืช โดยการใช้แรงคน และการใช้เครื่องมือกลต่างๆ หรือเรียกอีกอย่างว่า การกำจัดวัชพืชทางกายภาพมีวิธีปฏิบัติ ดังนี้
1.1 การถอนด้วยมือ เหมาะสำหรับการกำจัดวัชพืชประเภทล้มลุก หรือระบบรากตื้น เช่น ผักโขม ผักเบี้ยหิน ควรกระทำในขณะวัชพืชยังอ่อน และเมื่อสนาม หญ้าเปียกชุ่มจะถอนง่ายกว่าเมื่อวัชพืชแก่และดินแน่น
1.2 การใช้เหล็กแหลมหรือเสียม หากวัชพืชมีระบบรากหยั่งลึก ไม่สามารถถอนด้วยมือได้ เช่น หญ้าแห้วหมู หญ้าคา หญ้าตีนกา หญ้าหวาย เป็นต้น ก็ต้องใช้เหล็กแหลมหรือเสียมขุดแซะออก
1.3 การใช้กรรไกรหรือมีดตัดแต่ง เป็นวิธีการตัดทอนวัชพืชไม่ให้ระบาดไปมาก หากเป็นวัชพืชฤดูเดียวจะทำลายหรือกำจัดได้ดี แต่ถ้าเป็นวัชพืชยืนต้นก็จะ ทำลายเหง้าหรือลำต้นใต้ดินไม่ได้หมด
1.4 การใช้เครื่องตัดหญ้า การตัดหญ้าที่ถูกหลักวิธีควรมีความสูง ของหญ้าและความถี่ในการตัดหญ้าพอเหมาะ จะช่วยควบคุมการเจริญเติบโตไม่ให้วัชพืชขึ้นปกคลุม ทำความเสียหายแก่สนามหญ้าได้เร็ว จากนั้นก็ใช้วิธีการทำลายแบบอื่นเข้าทำลาย เพราะการใช้เครื่องตัดหญ้าแบบเดียวไม่อาจช่วยให้วัชพืชหมดไปได้
การกำจัดวัชพืชโดยวิธีกล อาจจะมีความล่าช้าและกำจัดวัชพืชไม่ได้กว้างขวางแต่เป็นวิธีการที่ปลอดภัยเช่นเดียวกับวิธีชีววิธี เพราะไม่ทำให้เกิดมลพิษไม่ทำให้สภาพแวดล้อมเสียหาย
2. การจัดการกำจัดวัชพืช โดยชีววิธี การควบคุมวัชพืชในสนามหญ้าด้วยชีววิธีเป็นพฤติกรรมควบคุมวัชพืชโดยใช้ศัตรู ทางธรรมชาติด้วยการกระทำของตัวเบียน ตัวห้ำ และเชื้อโรค เป็นวิธีที่ปลอดภัยและได้ผลดี เสียค่าใช้จ่ายต่ำ และให้ผลคุ้มค่าในการปฏิบัติ นอจากนี้ยังให้ผลที่ยาวนานไม่ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมเป็นพิษ
3. การจัดการกำจัดวัชพืชโดยใช้สารเคมี การกำจัดวัชพืชโดยใช้สารเคมี เป็นวิธีการกำจัดโดยใช้ยากำจัดวัชพืช ยาบางอย่างจะทำลายวัชพืชได้เพียงชนิดเดียว บางอย่างทำลายวัชพืชได้หลายอย่างการกำจัดวัชพืชด้วยวิธีนี้มีประสิทธิภาพสูง สามารถทำลายวัชพืชครั้งละมากๆ และรวดเร็ว แต่ผู้ใช้ต้องมีความรู้เรื่องยาชนิดต่างๆ ได้ดี และความชำนาญในการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นอย่างดี เพราะถ้าใช้ไม่เหมาะสมและเกิดความผิดพลาดแล้ว ประสิทธิภาพของการกำจัดวัชพืชจะลดลง นอกจากนี้ความปลอดภัยแก่สนามหญ้าด้วย รวมถึงผู้ใช้ สัตว์เลี้ยง และแมลงที่เป็นประโยชน์และสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะสนามหญ้าที่อยู่ในบ้านพักอาศัย จึงเสนอแนะว่า ขอให้เลือกใช้วิธีการกำจัดวัชพืชด้วยสารเคมีเป็นวิธีสุดท้าย หลังจากที่ใช้วิธีกลและวิธีชีววิธีที่ไม่ได้ผลแล้ว
3.1 ตัวอย่างสารเคมีที่ใช้กำจัดวัชพืชในสนามหญ้า
3.1.1 ไกลฟอเสท เป็นสารประเภทไม่เลือกทำลาย ใช้ฉีดพ่นทางใบเคลื่อนย้ายได้ทั่วต้นพืช ดังนั้นสารจึงเป็นพิษต่อสนามหญ้า ต้องระมัดระวังเรื่องการปลิวของ สาร เมื่อสารลงสู่ดินจะถูกดูดยึดไว้ได้หมด
อัตราที่ใช้
43-272 กรัม/ไร่ สำหรับวัชพืชอายุฤดูเดียว
90-540 กรัม/ไร่ สำหรับวัชพืชอายุข้ามปี
เวลาที่ใช้ หลังจากวัชพืชงอก
ชนิดวัชพืช ควบคุมวัชพืชหลายชนิด โดยเฉพาะวัชพืชที่ควบคุมยาก เช่น แห้วหมู หญ้าคา
ข้อควรระมัดระวัง ควรใช้น้ำสะอาดมาผสม ไม่ควรใช้น้ำที่มีตะกอนดิน หรือ น้ำกระด้างมาผสม จะทำให้ประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชลดน้อยลง ถ้าใช้ปริมาณน้ำที่นำมาผสมต่อพื้นที่ใน ปริมาณที่น้อยจะเพิ่มประสิทธิภาพของสารและควรฉีดพ่น เมื่อมีความชื้นในดิน หรือในอากาศสูง มีช่วงปลอดฝนนาน 6 ชั่วโมง
3.1.2 แอทราซีน เป็นสารประเภทเลือกทำลายใช้ฉีดพ่นทางเดินป้องกันวัชพืชงอก
อัตราที่ใช้
45-720 กรัม/ไร่
เวลาที่ใช้ ก่อนวัชพืชงอก หลังจากที่หญ้าสนามตั้งตัวได้แล้ว
ชนิดวัชพืช ควบคุมวัชพืชอายุฤดูเดียวที่งอกจากเมล็ด เช่น ผักเบี้ย ผักโขม
ข้อควรระมัดระวัง หญ้าสนามที่ต้านทานมีหญ้าเบอร์มิวด้า และหญ้านวลน้อย หลังฉีดพ่นควรให้น้ำเพื่อป้องกันอาการใบไหม้ของหญ้า สนาม
3.1.3 ไดแคมบา เป็นสารประเภทเลือกทำลาย ใช้แบบหลังงอกโดยการ ฉีดพ่นทางใบเคลื่อนย้ายได้ดีในต้นพืช
อัตราที่ใช้
450-135 กรัม/ไร่
เวลาที่ใช้ หลังวัชพืชงอกแล้ว มีต้นขนาดเล็ก ชนิดวัชพืช สามารถควบคุมผักเบี้ย ผักเบี้ยหิน ผักโขม ผักยาง
ข้อควรระมัดระวัง ระวังการปลิวไปสู่ไม้ประดับที่เป็นใบเลี้ยงคู่ และอาจจะถูกชะล้างไปในดินระดับลึก ซึ่งรากพืชที่เป็นไม้ประดับ อาจจะดูด เอาสารเข้าไปในต้นได้
3.1.4 ออกซาไดชอน เป็นสารประเภทเลือกทำลายใช้แบบก่อนงอกหรือ หลังงอกระยะแรก
อัตราที่ใช้
360-720 กรัม/ไร่
เวลาที่ใช้ หลังเมล็ดวัชพืชงอก 3-5 วัน และหญ้าสนามตั้งตัวได้แล้ว
ชนิดวัชพืช สามารถควบคุมวัชพืชอายุฤดูเดียวที่ยังเป็นต้นกล้าหรือป้องกันไม่ให้วัชพืชโผล่พ้นดิน ได้แก่ ผักโขม ส้มกบ หญ้าตีนนก หญ้าตีนกา
ข้อควรระมัดระวัง ไม่ควรใช้หลังหว่านเมล็ดหญ้าไปแล้ว 1-2 สัปดาห์
3.1.5 2,4-ดี เป็นสารประเภทเลือกทำลาย ใช้แบบหลังงอก เคลื่อนย้ายในต้นวัชพืชได้ดี
อัตราที่ใช้ 180-3,600 กรัม/ไร
เวลาที่ใช้ หลังจากวัชพืชใบเลี้ยงคู่งอก
ชนิดวัชพืช ควบคุมผักยาง ผักเบี้ย ผักโขม ผักโขมหิน
ข้อควรระมัดระวัง หากมีการปลิวเกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อไม้ยืนต้นอย่างรุนแรงและอาจถูกชะล้างลงสู่ดินชั้นล่าง
3.1.6 อิมาซาควีน เป็นสารประเภทเลือกทำลายใช้แบบหลังงอกเคลื่อนย้ายในต้นพืช
อัตราที่ใช้ 45-90 กรัม/ไร่
เวลาที่ใช้ หลังจากวัชพืชงอก ถ้าวัชพืชไม่เกิน 2-3 สัปดาห์จะควบคุมได้ดี
ชนิดวัชพืช ผักยาง ผักโขม ผักเบี้ย ผักเบี้ยหิน และวัชพืชที่ควบคุมยาก คือ แห้วหมู
ข้อควรระมัดระวัง ใช้ได้กับหญ้าเบอร์มิวด้า และหญ้านวลน้อยเท่านั้น ควรใช้หลังจากที่หญ้าสนามตั้งตัวได้แล้ว
3.1.7 เมทริบิวซิน เป็นสารเลือกทำลาย ใช้แบบก่อนวัชพืชงอก
อัตราที่ใช้ 90 กรัม/ไร่
เวลาที่ใช้ ก่อนวัชพืชงอกหลังจากที่หญ้าเบอร์มิวด้าตั้งตัวได้แล้ว
ชนิดวัชพืช ควบคุมผักเบี้ย ผักเบี้ยหิน ผักโขม ผักโขมหิน ผักยาง หญ้าตีนกา หญ้าตีนนก หญ้านกสีชมพู
3.1.8 MSMA เป็นสารประเภทเลือกทำลายใช้หลังจากวัชพืชงอกแล้ว
อัตราที่ใช้ 350-700 กรัม/ไร่
เวลาที่ใช้ หลังวัชพืชงอก หญ้าสนามตั้งตัวได้แล้ว
ชนิดวัชพืช ควบคุมหญ้าตีนกา หญ้าตีนนก หญ้าข้าวนก การผสมกับ อิมาซิควีน จะทำลายหญ้าแห้วหมูได้
ข้อควรระมัดระวัง ควรตัดหญ้าเบอร์มิวด้าให้สูง 2.5-3.75 เซนติเมตร
3.1..9 โพรไดอมีน เป็นสารประเภทเลือกทำลายใช้ทางดินก่อนวัชพืชงอก
อัตราที่ใช้ 80-240 กรัม/ไร่
เวลาที่ใช้ ก่อนวัชพืชงอก
ชนิดวัชพืช ควบคุมหญ้าตีนนก หญ้าตีนกา ผักยาง
ข้อควรระมัดระวัง ใช้ได้กับหญ้าเบอร์มิวด้า
3.1.10 ไดไธโอเพอร์ เป็นสารประเภทเลือกทำลาย ใช้ทางดิน ก่อนวัชพืชงอก และใช้ทางใบหลังวัชพืชงอก เป็นสารที่เคลื่อนย้ายได้ในต้นพืช
อัตราที่ใช้ 40-80 กรัม/ไร่
เวลาที่ใช้ ก่อนและหลังวัชพืชงอก
ชนิดวัชพืช ควบคุมหญ้าข้าวนก หญ้าปากควาย หญ้าตีนนก หญ้าตีนกา ส้มกบ ผักเบี้ย ข้อควรระมัดระวัง ระวังการปลิวและการถูกชะล้างจากผิวดิน
วัชพืชที่ขึ้นในสนามหญ้าแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
3.2.1 แบ่งตามความกว้างแคบของใบ เช่น วัชพืชใบแคบ เป็นพวกหญ้าหรือการเจริญเติบโตคล้ายหญ้า และพวกใบกว้าง เป็นวัชพืชที่เหนือจากหญ้า
3.2.2 แบ่งตามวงจรชีวิต แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ วัชพืชอายุสั้น และวัชพืชอายุหลายปี แต่อย่างไรก็ตามจะนำเสนอเฉพาะวัชพืชที่เป็นปัญหาและพบมากในสนามหญ้า ดังนี้

ก. วัชพืชใบแคบ ที่เป็นปัญหาและชอบขึ้นในสนามหญ้า ได้แก่
1. แห้วหมู ไม่ใช้หญ้าแต่เป็นวัชพืชที่อยู่ในวงศ์กกนับว่าเป็นวัชพืชรุนแรง เวลาเกิดในสนามหญ้ากำจัดยากมาก และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วเพราะมีหัวและลำต้นอยู่ใต้ดิน หัวแห้วหมูมีความทนทานอยู่ได้หลายฤดูกว่าจะฝ่อ (เหี่ยวยุบเหี่ยวแฟบ) การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ต้องกำจัดให้สิ้นเชิง (ให้หมดทุกส่วน)ตั้งแต่ตอนเริ่มเตรียมดิน ก่อนสร้างสนามหญ้า
2. หญ้าหวาย มีอายุหลายปี มีเหง้าและลำต้นใต้ดิน ลำต้นแข็ง ใบแข็ง ปลายใบแหลมคม กระจายพันธุ์โดยใช้ไหล ชอบขึ้นในสนามที่เป็นดินทราย
3. หญ้าคา อายุหลายปี ลำต้นแข็ง ใบแข็ง สากขอบใบปลายแหลมคม รากของหญ้าคงทนต่อความแห้งแล้ง แต่ไม่ทนน้ำขังจึงไม่ชอบขึ้นในที่มีความชื้นสูง การกำจัดหญ้าคาที่ดีที่สุด คือ การขุดเอาลำต้นใต้ดินออก หรือตัดใบทิ้งแล้วปล่อยน้ำท่วมขังระยะหนึ่ง ลำต้นใต้ดินจะเน่าตายวิธีหลังเหมาะสมสำหรับเตรียมพื้นที่ปลูกสร้างสนามหญ้าใหม่
4. หญ้าเจ้าชู้ อายุหลายปี ใบหยาบมีขนแข็ง เป็นหญ้าที่หาอาหารเก่ง ทนทานต่อความแห้งแล้งเวลาออกดอก ก้านดอกชูช่อดอกยาว เวลาผู้คนเดินผ่าน วิ่งผ่าน ดอกจะติดตามเสื้อผ้า หรือขนของสัตว์ทำให้แพร่พันธุ์ไปได้ไกล หญ้าเจ้าชู้ ออกดอกเป็นฤดู
5. หญ้าตีนกา ลำต้นเจริญเป็นกอ ลำต้นแบบนุ่ม ช่อดอกชูในอากาศ เหมือนตีนกาเป็นแฉก 3-5 แฉก หญ้าตีนกาออกดอกทั้งปี มีระบบรากยาวและลึก ถอนยาก


ข. วัชพืชใบกว้าง ที่เป็นปัญหาและชอบขึ้นในสนามหญ้า ได้แก่
1. ผักแว่น เป็นเฟิร์นชนิดหนึ่ง ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะลำต้นทอดยาวไปตามพื้นดิน ระบบรากตื้น ถอนกำจัดได้ง่าย การป้องกันไม่ให้สนามหญ้าแฉะการระบายน้ำในสนามหญ้าจึงเป็นสิ่งจำเป็น
2. หญ้าพันโยชน์ เป็นวัชพืชใบกว้างที่อยู่ในกลุ่มไมยราบไวต่อการสัมผัสใบจะหุบลำต้นเลื้อยชิดดิน ใบเป็นแฉกมีหนามตรงกิ่งก้าน ดอกกลมสีส้ม รากลึกถอนยาก ทนแล้ง
3. บัวบก เป็นได้ทั้งพืชคลุมดินและวัชพืช อายุหลายฤดู อวบน้ำขยายพันธุ์โดยทอดยาวคล้ายผักแว่น ชอบขึ้นในดินที่มีความชื้นสูงและชอบขึ้นในพื้นที่ที่หญ้าสนามตายหรืออ่อนแอ
4. น้ำนมราชสีห์พืชลำต้นอ่อนที่มีอายุเพียงฤดูเดียวลำต้นแผ่กระจายใบสีน้ำตาลอมแดง ใบแตกออกจากก้านเป็นคู่ ใบและลำต้นมียางคล้ายน้ำนม ขยายพันธุ์โดยเมล็ด
5. น้ำนมราชสีห์เล็กพืชลำต้นอ่อนที่มีอายุเพียงฤดูเดียวลำต้นแผ่กระจายใบสีน้ำตาลแดง ใบแตกออกจากก้านเป็นคู่ ใบและลำต้นมียางคล้ายน้ำนม ขยายพันธุ์โดยเมล็ด
วัชพืชใบกว้างยังมีอีกมากมายที่ชอบขึ้นในสนามหญ้าที่ไม่ได้กล่าวถึงในรายละเอียด เช่น ผักโขม ถั่วลิสงนา ผักเบี้ยใหญ่ พานงูเขียว ต้อยติ่ง เป็นต้น
การคำนวณหาปริมาณสาร
เพื่อความแน่ใจว่ามีปริมาณสารลงในพื้นที่ที่ต้องการฉีดพ่นอย่างถูกต้อง ผู้ฉีดจะต้องทราบ ปริมาณสารที่ใช้ต่อพื้นที่ ทั้งนี้จะต้องมีความเร็วของการเดินคงที่และแรงดันในเครื่องก็จะ ต้องคงที่ด้วย การวัดปริมาณสารที่ใช้ต่อพื้นที่และการคำนวณอัตราสารทำได้ ดังนี้
1. เติมน้ำเปล่าลงในถังฉีดในปริมาณที่ต้องการ ต้องทราบปริมาณ ของน้ำ
2. เดินฉีดในพื้นที่ที่ทราบขนาดพื้นที่โดยให้มีความเร็วของการเดินคงที่ และมีความดันในถึงคงที่ (ดูจากมาตรวัดความดัน)
3. วัดปริมาณน้ำที่เหลือแล้วนำไปลบจากปริมาณน้ำที่ใส่เข้าไปครั้งแรก (ข้อ 1) ซึ่งก็จะเป็นปริมาณน้ำที่ใช้ต่อพื้นที่ ถ้าปริมาณน้ำที่ใช้ไม่คงที่จะต้องทำการฉีดซ้ำ 3-5 ครั้ง ปริมาณน้ำแต่ละครั้งมาหาค่าเฉลี่ย
4. นำปริมาณน้ำที่ใช้ไปในพื้นที่นั้นมาหารด้วยจำนวนพื้นที่ ก็จะเป็นปริมาณน้ำ (ลิตร) ต่อพื้นที่ (ตารางเมตร)
5. ถ้ามีการแนะนำให้ใช้สารชนิดหนึ่ง 160 กรัมต่อไร่ ก็จะต้องนำไปเปรียบเทียบกับพื้นที่ในข้อที่ 4 ว่า 1 ไร่ควรจะใช้น้ำเท่าใด (1 ไร่ = 1,600 ตารางเมตร)
สมมติว่า ต้องใช้น้ำ 20 ลิตร ในพื้นที่ 400 ตารางเมตร แต่มีการแนะนำให้ใช้สารอัตรา 160 กรัม (ตัวสารบริสุทธิ์) ต่อไร่
พื้นที่ 1,600 ตารางเมตร ใช้สาร 160 กรัม
160คูณ400หาร1600
ถ้าพื้นที่ 400 ตารางเมตร ใช้สาร = 40 กรัม
6. โดยทั่วไปรูปสารที่ขายในท้องตลาดจะเป็นผง โดยจะบอกเป็นเปอร์เซ็นต์ตัวสารบริสุทธิ์ เช่น 80 W.P. หมายถึงสารที่เป็นผง โดยในผลิตภัณฑ์นั้น 100 กรัม จะมีตัวสารบริสุทธิ์อยู่ 80 กรัม ถ้าเขียนไว้ว่า 250 E.C. หรือ 500 F.W. หรือ 2E หมายถึงสารที่เป็นน้ำโดยรูปผลิตภัณฑ์ 1 ลิตร มีตัวสารบริสุทธิ์อยู่ 250 กรัม, 500 กรัม และ 240 กรัม (1E หมายถึง สารหนัก 1 ปอนด์ ต่อน้ำ 1 แกลลอน ซึ่งมีค่าเท่ากับ 120 กรัมต่อลิตร)
สมมติว่า ต้องการใช้สารคำแนะนำในข้อ 5 คือ 160 กรัม (ตัวสารบริสุทธิ์) ต่อไร่ ในพื้นที่ 400 ตารางเมตร ต้องใช้สาร 40 กรัม (ตัวสารบริสุทธิ์)
ถ้าสารที่จำหน่ายอยู่เป็นผลิตภัณฑ์อยู่ในรูปผง เขียนไว้ว่า 80 W.P. อยากทราบว่าถ้าต้องการใช้สารบริสุทธิ์ 40 กรัม จะต้องใช้สารในรูปผลิตภัณฑ์เป็นปริมาณเท่าใด
ต้องการใช้ตัวสารบริสุทธิ์ 80 กรัม ต้องใช้ผลิตภัณฑ์ 100 กรัม
40คูณ 100 หาร 80
ต้องการใช้ตัวสารบริสุทธิ์ 40 กรัม ต้องใช้ผลิตภัณฑ์ = 50 กรัม
ถ้าสารที่ขายในรูปผลิตภัณฑ์นั้นเป็นน้ำ เขียนไว้ว่า 250 E.C. อยากทราบว่าถ้าต้องการสารบริสุทธิ์ 40 กรัม จะต้องใช้ผลิตภัณฑ์เป็นปริมาณเท่าใด
ต้องการใช้ตัวสารบริสุทธิ์ 250 กรัม ต้องใช้ผลิตภัณฑ์ 1,000 กรัม
40คูณ100 หาร25
ต้องการใช้ตัวสารบริสุทธิ์ 40 กรัม ต้องใช้ผลิตภัณฑ์ = 60 กรัม
สารที่คำนวณได้นี้นำไปผสมกับน้ำที่วัดในข้อ 3 เพื่อฉีดในพื้นที่ 400 ตารางเมตร
การจัดการปัญหาที่เกิดจากโรคและแมลงในสนามหญ้า

1) โรคสนามหญ้า ปัญหาที่เกิดจากโรคสนามหญ้ามีสาเหตุมาจากหลายๆ อย่าง ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม เมื่อต้นหญ้าอ่อนแอต่อสภาพแวดล้อมเหมาะแก่การเกิดโรคและมีตัวการทำให้เกิดโรคเข้าทำลายหญ้าสนาม ความอ่อนแอของหญ้าอาจะเกิดจากการเหยียบย่ำ ถูกแสงแดด ฝน หรือได้รับเชื้อเพียงเล็กน้อยไม่มีความต้านทานต่อโรคพอ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ทำให้สนามหญ้าเกิดโรคต่างๆ ได้ทั้งหมด การจัดการยับยั้งไม่ให้โรคสนามหญ้าเข้าทำลายต้นหญ้าควรเริ่มตั้งแต่การเตรียมการปลูกจนถึงการตัดแต่งดูแลรักษาสนามหญ้า ให้หญ้ามีความสมบูรณ์แข็งแรงตลอดเวลาโรคสนามหญ้าที่พบเห็นเป็นประจำเกิดมาจากสิ่งมีชีวิต และสิ่งที่ไม่มีชีวิต โรคสนามหญ้าที่พบในเขตร้อน ได้แก่ โรคที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตที่ทำให้เกิดโรคคือ จุลินทรีย์ (Microorganism)ต่าง เช่น จากเชื้อรา (Fungi) เชื้อแบคทีเรีย (Bacteria) ซึ่งเกิดจากโรค ทำให้หญ้าสนามตาย

ลักษณะแตกต่างกัน และสามารถสังเกตได้ เช่น
1.1 หญ้าสนามตายเป็นวงสีน้ำตาล (Brownpatch) ซึ่งเกิดจากการทำลายของเชื้อรา Rhizoctonia Solani ใบหญ้าจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาล ตายเป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางของการเกิดโรคเกือบถึง 1 เมตร และเป็นหย่อมๆ โรคนี้เกิดขึ้นง่ายในสภาพการให้น้ำมากเกินไป เกิดขึ้นกับหญ้าสนามเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะหญ้าเซนต์ออกัสติน หญ้าแพรกลูกผสม หญ้านวลน้อย
การป้องกันและรักษา ควรลดปริมาณการให้น้ำแก่สนามหญ้า มีการจัดการกำจัดชั้นเศษหญ้าในบริเวณที่เป็นโรค ฉีดยา Kroma-clor, Ultra-clor ยาจำพวกสารประกอบปรอท Thiram cadium
1.2 โรคสนิมเหล็ก (Rust) เกิดจากเชื้อรา Puccinia sp. โรคนี้เมื่อหญ้าเริ่มเป็นโรคใหม่ๆ จะมีจุดสีเหลืองหรือสีน้ำตาลเล็กๆ บนใบและลำต้น ต่อมาเป็นสีเหลืองส้มหรือน้ำตาลแดง เป็นสีดำเมื่อแก่แล้ว ทำให้มองดูเป็นสนิม สีน้ำตาลแดง เกิดขึ้นได้ง่ายเวลาหญ้าสนามขาดธาตุไนโตรเจน โรคสนิมเหล็กเกิดขึ้นกับหญ้าสนามแทบทุกชนิด
การป้องกันและรักษา ควรใส่ปุ๋ยรดน้ำให้ถูกต้อง ตัดหญ้าบ่อยๆ จะช่วยกำจัดโรคออกไปได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดโรคขึ้นแล้วจะมีเวลาฟักตัว 7-10 วัน ถ้าตัดหญ้าออกเสีย จะสามารถกำจัดเชื้อราออกได้ อาจใช้ยาที่มีธาตุสังกะสีและเงินเป็นสารประกอบ เช่น Zineb, Maneb ยาที่มีพวกกำมะถันประกอบฉีดพ่นก็ได้
1.3 หญ้าตายเป็นวงสีเหลืองหรือโรคดอลลาร์สปอต (Dollar spot) เกิดจากเชื้อรา Sclerotenia homeocarpa เวลาเกิดโรคใบหญ้าสนามจะเป็นสีเหลืองทองเป็นหย่อมคล้ายเงินเหรียญเป็นวงแต่ละวงเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 นิ้ว กระจายในสนามหญ้าโรคนี้ชอบเกิดขึ้นกับหญ้าแพรกลูกผสม
การป้องกันและรักษา จะเหมือนกันกับโรคหญ้าตายเป็นวงสีน้ำตาล
1.4 โรคใบจุดสีเทา (Gray leaf spot) เกิดจากเชื้อรา Piricularia grisea เกิดมากกับหญ้าเซนต์ออกัสติน ใบหญ้าเป็นจุดสีเทาถึงสีน้ำตาล จุดกลมตามใบหญ้าส่วนขอบใบสีม่วง

2) วิธีการป้องกันกำจัดโรคสนามหญ้าที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต
ก. การป้องกันก่อนการเกิดโรค เป็นวิธีการสกัดกั้นไม่ให้เกิดโรค โรคแก่สนามหญ้าในเบื้องต้น เช่น
- เลือกใช้พันธุ์หญ้าสนามที่ทนทานต่อโรคปลอดเชื้อโรคและพันธุ์หญ้าสนามจากแหล่งที่ไม่มีโรค
- ระวังการให้น้ำแก่สนามหญ้า อย่าให้เกิดการขังแฉะอย่าทำให้หญ้าขาดน้ำ ความสม่ำเสมอของการให้น้ำเป็นวิถีทางหนึ่งที่ทำให้หญ้าสนามปลอดโรค
- ระวังการตัดหญ้าต่ำเกินไป จะทำให้หญ้าสนามอ่อนแอ ทำให้เกิดโรค ในส่วนของลำต้นหญ้า หลังจากตัดควรกวาดใบหญ้าออกจากสนามหญ้าให้หมดการหมักหมมของใบหญ้าเป็นสาเหตุของการเกิดโรค
- ควรใส่ปูนขาวแก่สนามหญ้า ถ้าตรวจพบว่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) ต่ำกว่า 6
- กำจัดชั้นเศษหญ้าที่หนาเกินไป
- กำจัดแมท (Mat) เพื่อให้การซึมผ่านของน้ำลงสู่ดินเบื้องล่างได้สะดวก
ข. การกำจัดเมื่อเกิดโรคแล้ว ใช้สารเคมีกำจัดโรคสนามหญ้า ฉีดพ่นหรือโรยในสนามหญ้าทั้งส่วนที่เป็นโรคและไม่เป็นโรค เพื่อกำจัดและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และควรใช้ตัวยาที่มีการดูดซึมน้อย หรือไม่มีการดูดซึมเลย เช่น แคปเทน ไดโฟลาเทน และมาเนบ
3) อาการคล้ายโรคที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต ส่วนใหญ่เกิดจากอิทธิพลของสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิสูง แสงแดดจัด การให้น้ำมากเกินไป ใส่ปุ๋ยมากเกินไป ดินแน่นเป็นตัวทำให้ขาดอากาศออกซิเจนและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น
3.1 มีม้าเข้าไปถ่ายมูลและปัสสาวะในสนามหญ้า ทำให้สนามหญ้าตายเนื่องจากหญ้าสนามไหม้
3.2 ขับรถเข้าไปในสนามหญ้า น้ำมันรถโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิลรั่วไหลหยดลงสู่สนามหญ้า ทำให้สนามหญ้าไหม้
3.3 ตัดหญ้าโดยไม่ได้ลับใบมีดให้คม ทำให้ปลายใบหญ้าแตก ต้นหญ้าถูกกระชากถอน
3.4 ใส่ปุ๋ยเม็ด ขาดความระมัดระวัง ทำให้เกิดกองเม็ดปุ๋ยในสนามหญ้า และหลังใส่ปุ๋ย โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจนแล้วไม่รดน้ำ ทำให้หญ้าสนามตายเป็นจุดเป็นแถบ
3.5 ให้น้ำในช่วงที่แสงแดดจ้า ทำให้ใบหญ้าตายนึ่ง (เฉาหรือเหี่ยวเพราะถูกแดดหรือไอร้อนคล้ายถูกนึ่ง)

สัตว์ศัตรูสนามหญ้า สัตว์ ศัตรูที่ทำความเสียหายให้แก่สนามหญ้า ได้แก่ แมลง ไส้เดือน หนู กระรอก สุนัข สัตว์เลี้ยงอื่นๆ รวมถึงมนุษย์ด้วย ซึ่งสัตว์ศัตรูพืชแต่ละชนิดมีลักษณะการทำลายที่แตกต่างกัน
1) แมลง แมลงที่ทำลายสนามหญ้าส่วนใหญ่มีอยู่ 2 ช่วงวัย คือ เป็นตัวหนอน (Larvae) และเป็นตัวเต็มวัย (Adult) เช่น
1.1 หนอนใยหญ้า (Sod webworm) กินหน่อหญ้า ใบหญ้า เป็นหย่อมๆ (Patch) หญ้าตายเป็นจุดกว้าง 1-2 นิ้ว ในสภาพที่หญ้าเจริญเติบโตเป็นปกติ ถ้าสังเกตให้ดีจะพบเส้นใยในพื้นที่สนามหญ้าที่ถูกหนอนใบหญ้าทำลาย หนอนใยหญ้าชอบกัดกินใบหญ้าเหนือระดับชั้นเศษหญ้า
1.2 หนอนกัดกินใบ (Cutworm) ชอบกัดกินส่วนของตัวใบหญ้า โดยเฉพาะริมขอบใบ และบางครั้งชอบกัดทำลายลำต้น ทำให้หน่อหญ้าขาดชิดดิน
1.3 หนอนด้วง (Whitegrub) ชอบทำลายรากหญ้า กัดกินรากหญ้าเป็นอาหารทำให้ต้นหญ้าล้มหญ้าสนามตายเป็นหย่อม สีน้ำตาล หนอนด้วงจะอาศัยอยู่ใต้ดินใต้แผ่นหญ้าหนอนด้วงเป็นตัวหนอนของแมลงปีกแข็ง
1.4 แมลงกะชอน (Mole cricket) ชอบขุดคุ้ยลงไปในดิน ทำลายรากหญ้า กินรากหญ้า ทำให้พื้นสนามหญ้าเป็นโพรงหญ้าเป็นสีน้ำตาล เหี่ยวเฉา
1.5 เพลี้ยจั๊กจั่น (Leafhopper) ชอบทำลายใบหญ้า โดยการดูดน้ำเลี้ยง โดยเฉพาะบริเวณใกล้ฐานใบทำให้ต้นหญ้าเจริญไม่เต็มที่ เพลี้ยจั๊กจั่นดูดน้ำเลี้ยงทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย
1.6 ตั๊กแตน (Grasshopper) ชอบกัดกินใบหญ้า โดยกัดริมขอบใบไปในแผ่นใบ จนทำให้ใบหญ้าขาด
1.7 แมลงอื่นๆ เช่น ปลวก มด ชอบทำลายหญ้าสนามโดยการกัดกินราก ลำต้น และใบหญ้า สร้างโพรงใต้ดิน สร้างขุยดิน ทำให้สนามหญ้าสกปรก
วิธีการป้องกันกำจัดแมลง และสัตว์ขนาดเล็ก
1) วิธีการป้องกันกำจัดแมลงทำได้หลายวิธี เช่น วิธีกล ใช้มือจับ แสงไฟฟ้าล่อ วิธีทางเคมี ใช้สารเคมีกำจัดแมลง ที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไปเพียงระมัดระวังใช้สารเคมีที่มีอันตรายต่อคนน้อยที่สุด ขณะเดียวกันคำนึงสภาพแวดล้อมต่างๆ การใช้สารเคมีพวกออร์กานิคฟอสเฟตจะดีกว่าเพราะมีพิษรุนแรง ฉับพลัน แต่มีฤทธิ์ตกค้างระยะสั้น
2) ไส้เดือน (Earthworm) โดยปกติแล้วไส้เดือนไม่ได้ทำลายหญ้าสนามเพียงแต่ขุยของไส้เดือนทำให้หญ้าสนามสกปรก อาจทำให้หญ้าสนามตายเป็นหย่อม เนื่องจากขุยไส้เดือนกดทับเป็นเวลานาน ในความเป็นจริงไส้เดือนมีส่วนช่วยทำให้พื้นของสนามหญ้าลดความแน่นตัว และการสร้างรูอากาศภายใต้ผิวดิน ซึ่งมีส่วนทำให้รากหญ้าสนามเจริญเติบโตได้ดีขึ้น น้ำสามารถซึมผ่านสู่ดินชั้นล่างได้สะดวกขึ้น
3) หนู (Rats) ทำลายสนามโดยการขุดรู ทำให้เกิดโพรงดินภายใน เกิดกองดินในสนามหญ้า พื้นสนามหญ้ามีโอกาสยุบตัว การป้องกันใช้วิธีกล คือการใช้กับดัก การใช้เหยื่อพิษ ก๊าซพิษรมในรูที่มีหนูอาศัยอยู่

ปัญหาเกี่ยวกับสระน้ำ
สระน้ำปัญหาที่พบในสระน้ำของพื้นที่โครงการ
ปัญหาหลักคือ ปัญหาวัชพืชบริเวณขอบสระขึ้นลุกลามเข้ามาในสระน้ำและปัญหาขยะ วัชพืชเหล่านี้หากปล่อยไว้ให้ขึ้นมากๆ จะทำให้การดูแลรักษายากมาก เนื่องจากเป็นวัชพืชที่เจริญเติบโตเร็วมากและในส่วนของปัญหาขยะนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็น
การจัดการ ระบบการให้น้ำแก่พืชพรรณและสนามหญ้า
ระบบการให้น้ำแก่พืชพรรณนับว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญที่สุด พืชพรรณจะมีชีวิตรอดอยู่ได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับการให้น้ำ ระบบการให้น้ำแก่พืชพรรณจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

การดูแลรักษา
- หลังเสร็จสิ้นการให้น้ำแต่ละครั้ง ปิดก๊อกน้ำที่ควบคุมการให้น้ำ และทำการเก็บม้วนสายยาง เก็บหัวให้น้ำแบบต่างๆ และตรวจการอุดตันที่เดจากสิ่งสกปรก หยอดน้ำมันหล่อลื่นที่แกนสำหรับหมุนเชื่อมต่อกับสายยาง และเก็บไว้ในสถานที่เก็บให้เรียบร้อย
- หมั่นตรวจสอบรอยเชื่อมต่อระหว่างท่อลำเลียงน้ำแต่ละช่วงโดยเฉพาะช่วงต่อขึ้นมาเหนือดิน ที่ติดเข้ากับก๊อกวาร์ว อาจหลุดหรือแตก ทำให้เนื่องจากการลากสายยาง
-หมั่นตรวจสอบระบบการส่งน้ำ ระบบควบคุมแรงดันให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
- ตรวจสอบการอุดตันของหัวพ่นที่ต่อกับสายยางที่นำมาเชื่อมต่อ
- ตรวจสอบสิ่งสกปรกที่เข้าสู่เครื่องสูบน้ำ
ข้อเสนอแนะ
จากการสรุปปัญหาต่างๆ และการจัดการแล้ว ยังพบปัญหามากในพื้นที่โครงการ ทั้งพืชพรรณและสนามหญ้า ควรที่จะมีการเตรียมการที่ดีกว่านี้
1. จัดทำตารางการทำงานที่ชัดเจน
2. ใช้เครื่องมือที่ถูกต้องกับลักษณะงาน
3. จัดลำดับการทำงานด่วนและอื่นๆ
4. บุคลากรที่เป็นแรงงาน ควรมีความรู้ความสามารถในการจัดการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้
5. การทำงานที่ค้างในวันก่อนที่ทำควรทำต่อเนื่องในวันถัดไปทันทีให้เสร็จ
6. จัดหาบุคลากรให้เพียงพอต่อลักษณะงานและพื้นที่

2 ความคิดเห็น:

ku m a j a n g กล่าวว่า...

ให้ความรู้ดีจังค่ะ

Unknown กล่าวว่า...

ผมมีขายฮอร์โมนสตั้นเกี่ยวกับสูตรบำรุงหญ้าโดยตรงซึ่งทำให้รากหญ้าแข็งแรงทนทานต่อโรคและป้องกันแมลงได้ดีและป้องกันการทรุดโทรมทนทานต่อการเยียบย่ำ ช่วยทำให้ต้นหญ้าไม่ยาวเร็ว ปลอดภัยต่อมนุษย์ สิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อม ซึ่งจากผลสำรวจความพอใจของลูกค้าของผมที่ใช้เองได้บอกว่า "ปกติประมาณ 1-2 อาทิตย์จะตัดหญ้า 1 ครั้ง ยิ่งช่วงหน้าฝนจะตัดบ่อยมาก พอได้นำสตั้นของผมไปใช้ช่วยเบาแรงได้เยอะประมาณ 1 เดือนก็ตัด 1 ครั้ง ไม่ต้องเหนื่อยตัดหญ้าบ่อยๆ"

ผมได้ผลิตในไทยเองตอนนี้ผมมีจัดโปรโมชั่นลด 50% ถ้ามีท่านใดสนใจติดต่อผมได้ครับ

คุณเล็ก 09-9352-6551

แสดงความคิดเห็น