RSS

วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การดูแลรักษาไม้กระถาง

การดูแลรักษาไม้กระถาง

บ้านไหนที่นิยมปลูกไม้กระถางไว้ประดับบ้าน และอยากให้ไม้กระถางอยู่ได้นาน ๆ วันนี้มีวิธีดูแลรักษา การปลูกไม้กระถาง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลรักษาอย่างดี และสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อให้ไม้กระถางมีอายุยืน และคงความสวยงามไว้ได้นาน ไม่ต้องเปลี่ยนกระถาง หรือต้นไม้บ่อยครั้ง


- ไม่ควรตั้งไม้กระถางในที่ที่มีลมแรงมาก หรือตั้งใกล้ที่มีไอร้อนมาก เช่น อยู่ใกล้เครื่องทำความร้อน ไม้กระถางส่วนมากไม่ชอบให้ลมพัดโกรกมาก หรืออุณหภูมิสูง เพราะจะทำให้พืชมีการระเหยน้ำมากจนต้นไม้นั้นเหี่ยวเฉาตายได้ โดยเฉพาะการใช้ไฟส่องแสงสว่างแรง ๆ และใกล้ต้นไม้เกินไปทำให้ต้นไม้ทนความร้อนไม่ไหวทำให้เหี่ยวเฉาตายได้ในที่ สุด


- การนำไม้กระถางไปใช้งานหรือประดับในที่ต่าง ๆ ควรคำนึงถึงช่วงเวลาการใช้งานของไม้แต่ละกลุ่ม เช่น ไม้กลางแจ้งจำพวกหมากเหลือง ไทร ไผ่ วาสนา หากนำไปใช้ประดับในร่ม หรือในอาคาร ช่วงเวลาของการใช้งาน 6-8 สัปดาห์ ก็ควรสับเปลี่ยนไม้ชุดใหม่เข้าแทน เพื่อจะได้พักฟื้นไม้ประดับชุดเก่า


- ส่วนไม้ในร่มหรือกึ่งร่ม เช่น โมก คล้า อะโกลนีมา เปปเปอโรเมีย ฟิโล เดนดรอน พลูด่าง เฟิร์น รวมทั้งกลุ่มไม้ดอก เช่น กล็อกซีเนีย กล้วยไม้ อาฟริกันไวโอเลท จะอยู่ได้นานกว่า เพราะไม้กลุ่มนี้ต้องการแสงจำกัดอยู่แล้ว อายุการใช้งานอาจจะถึง 8-10 สัปดาห์ แต่อายุการใช้งานของไม้ทั้ง 2 กลุ่ม ถ้ายิ่งใช้งานช่วงเวลาสั้นจะดีกว่าเพราะไม่ทำให้ต้นไม้โทรมหรือช้ำมาก ไม้จะฟื้นตัวเร็วและคงความสวยงามได้นาน ดังนั้นสำหรับไม้ประดับในร่มแล้ว จึงควรเตรียมไม้ประดับไว้หลายชุด เพื่อใช้สับเปลี่ยน


-ไม้กระถางที่ใช้ประดับนอกอาคารนั้นสำคัญที่ สุด คือ การให้น้ำสม่ำเสมอ ถ้าขาดน้ำแล้วจะเหี่ยวเฉา ถ้าใช้จานรองก้นกระถางหล่อน้ำเอาไว้ก็อาจจะช่วยได้บ้าง


- การดูแลทำความสะอาดใบ ก็นับเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน เพราะใบที่สะอาดคือใบที่แข็งแรง การล้างใบเป็นการล้างเอาฝุ่นละอองออกจากใบ นอกจากจะทำให้ใบสะอาดสวยงามแล้ว ยังทำให้พืชสามารถปรุงอาหารได้ดีขึ้น วิธีล้างใบควรใช้น้ำสบู่อ่อน ๆ จะไม่ทำให้เป็นอันตรายต่อใบ ไม่ควรใช้ผงหรือน้ำยาซักฟอกประเภทกัดรุนแรงโดยเด็ดขาด


- ส่วนโรคที่พบอยู่เสมอได้แก่โรคโคนเน่า มักเกิดกับพืชในระยะที่เป็นต้นกล้ายังตั้งตัวไม่ได้ แสดงอาการใบเหี่ยว เมื่อดูที่โคนต้นระดับผิวดินจะพบรอยเน่า และต้นล้มตายในที่สุด การป้องกันให้พยายามทำให้บริเวณโคนต้นโปร่ง มีการระบายอากาศดี มีแสงแดดส่องถึง และรักษาผิวหน้าดินปลูกอย่าให้ชื้นแฉะเกินไป
เนื่องจากการปลูกไม้กระถางประดับเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ชิดกับคน หากสามารถหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศตรูพืชได้มากเท่าไรหรือไม่ใช้เลยยิ่งดี โดยเฉพาะไม้กระถางที่ใช้ประดับในอาคารบ้านเรือน หากจำเป็นต้องใช้ยากำจัดแมลงควรกระทำอยู่ภายนอกอาคารและหลีกเลี่ยงยาที่มีอันตรายมากๆ มีฤทธิ์ตกค้างนานและมีกลิ่นรุนแรง ก่อนนำพรรณไม้เข้าประดับในอาคารควรงดฉีดยา หรือทิ้งไว้จนหมดกลิ่นและฤทธิ์เสียก่อน สิ่งสำคัญควรเลือกใช้ยาให้ถูกต้องกับแมลงที่ต้องการกำจัด แล้วนำมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะโดยทั่วไปยาฆ่าแมลงมีอันตรายต่อคนอยู่แล้วไม่มากก็น้อย ถ้าใช้ไม่ถูกวิธีอันตรายก็ยิ่งมากขึ้น


การกำจัดโรคพืช
โรคพืชที่พบบ่อยในไม้กระถางได้แก่ โรคโคนเน่า ลักษณะอาการแสดงออกที่บริเวณโคนต้นระดับผิวดินจะเน่าและต้นจะล้มตายในที่สุด ทางป้องกันหรือลดความเสียหายทำได้โดยการกำจัดวัชพืชและตัดแต่ง ช่วยให้โคนต้นโปร่งมีการระบายอากาศ แสงแดดส่องได้ทั่วถึง และพยายามรดน้ำให้น้อยลง รักษาผิวหน้าดินอย่าให้ชื้นแฉะเกินไป


การกำจัดวัชพืช
วัชพืชหรือหญ้าต่างๆ ที่ขึ้นอยู่ในเครื่องปลูกจะเป็นตัวแย่งอาหารจากต้นไม้ ทำให้ต้นไม้ไม่สวย และยังเป็นที่อยู่อาศัยหรือแหล่งสะสมของโรคแมลงบางชนิดด้วย การกำจัดวัชพืชควรทำในขณะที่วัชพืชยังเป็นต้นอ่อนยังไม่ออกดอกติดเมล็ด เพราะเมล็ดแก่อาจหล่นลงในเครื่องปลูกงอกเป็นต้นอ่อนได้ ทำให้ต้องเสียเวลาในการกำจัดต่อไปอีก วิธีการกำจัดวัชพืชอาจใช้วิธีถอนด้วยมือ แซะหรือขุดด้วย พลั่วมือ เสียม หรือจอบ โดยพรวนดินร่วมไปด้วย


การตัดแต่ง
การตัดแต่ง ไม้ประดับหลังจากปลูกประดับไปนานๆ ส่วนยอด กิ่งก้าน หรือใบจะยืดยาวเจริญไม่เป็นระเบียบ ขาดความสวยงาม จำเป็นต้องมีการตัดแต่งกิ่งออกบ้าง เพื่อรักษาทรงพุ่มให้สวยงามยิ่งขึ้น หากมีกิ่งหักเสียหายที่เกิดจากการเคลื่อนย้าย กิ่งมีโรคแมลงเข้าทำลาย หรือกิ่งแห้ง ควรตัดออกให้ดูสวยงามและยังเป็นการรักษาสุขภาพของต้นไม้ให้ดีขึ้นด้วย โดยใช้กรรไกรตัดแต่งหรือมีดคมๆ เพื่อไม่ให้แผลที่ตัดช้ำมากนัก
การตัดแต่งต้นไม้ คือ การตัดส่วนที่ไม่ต้องการออกเพื่อให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการ และการตัดแต่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับไม้ต้นและไม้พุ่ม
สิ่งที่ควรตัดเป็นสิ่งแรกของการตัดแต่ง
* กิ่งที่แห้งตาย
* กิ่งที่อ่อนแอ ฉีกขาด
* กิ่งที่เป็นโรค
* กิ่งที่เจริญผิดปกติ
* กิ่งที่แทงเข้าภายในพุ่มต้น


การตัดกิ่งเหล่านี้ จะทำให้ทรงพุ่งโปร่ง แสงสว่าง ลม จะพัดผ่านเข้าไปในทรงพุ่มได้สะดวก กรณีไม้ยืนต้น การตัดแต่งจะช่วยควบคุมการเจริญเติบโต ช่วยเพิ่มผลผลิต ส่วนไม้พุ่ม จะทำให้รูปทรงพุ่มต้นสมดุล
การตัดแต่งไม้พุ่ม จะเริ่มตั้งแต่การเด็ดยอด เพื่อให้ไม้พุ่มแตกตาข้าง ทำให้การเจริญเติบโตทางยอดลดลง หลังจากนั้นอาจจะมีการขลิบ แต่ง ลิดใบและยอดที่แทงออกมาจากทรงพุ่ม กรณีที่ทรงพุ่มแน่นเกิดไปควรจะตัดแต่งกิ่งออกบ้าง โดยตัดให้ชิดพื้นดิน ส่วนไม้พุ่มที่แทงหน่อออกมาจะต้องตัด ให้ลึกลงไปใต้ระดับดิน
ส่วนไม้พุ่มที่ต้องการให้มีการเจริญเติบโตใหม่ เนื่องจากมีอายุมาก ให้ตัดส่วนของไม้นั้น เหลือเพียงหนึ่งในสามของความสูงเดิม ดูแลรักษาให้เจริญเติบโตใหม่ การตัดแต่งไม้พุ่มให้เล็กลง จะช่วยให้มีการแตกกิ่งยอดใหม่ ทําให้ไม้พุ่มนั้นมีดอกมากขึ้น
การตัดแต่งแต่ละครั้ง ควรใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับงานนั้น ๆ เครื่องมือจะต้องคมและใช้ให้ถูกต้อง นอกจากนี้หากรอยแผลที่ถูกตัดแต่งมีขนาดใหญ่จะต้องใช้ยาทาแผล เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าไปทำลาย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น