RSS

วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ความเป็นมาของหญ้าและการดูแลสนามหญ้า

ความเป็นมาของหญ้าและการดูแลสนามหญ้า

อันว่าหญ้าที่เราเห็นเป็นแผ่น ๆ ที่ผู้รับเหมาปูหญ้าจัดสวนอามาปูไว้ในสนามบ้านเรานั้น ร้อยทั้งร้อยมาจากนาหญ้าหรือไร่หญ้า แต่เดิมนาหญ้ามีอยู่มากแถบมีนบุรี หนอกจอก ลาดกระบัง (แต่เดี๋ยวนี้เริ่มขยับห่างออกไปถึงปทุมธานีและจังหวัดอื่นรอบกรุงเทพฯ) ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ยึดอาชีพทำนาหญ้าเป็นชาวไทยมุสลิมที่มาตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้ตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินธ์ตอนต้น เหตุที่ชาวบ้านละแวกนี้ยึดอาชีพทำนาหญ้า เพราะในยุคหนึ่ง เจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่นิยมทำสนามหญ้าไว้ในของตนเองตามแบบฝรั่ง แต่หาหญ้ามาปูสนามไม่ได้ จึงเกณฑ์ให้ชาวบ้านละแวกดังกล่าวปลูกหญ้ามาถวาย เมื่อสั่งสมประสบการณ์
จากรุ่นสู่รุ่นเป็นเวลาหลายสิบปีเข้า ชาวบ้านแถบนั้นจึงยึดการปลูกหญ้าแทนการทำนาเป็นอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวเสียเลย

ขั้นตอนการทำนาหญ้าในอาณาบริเวณที่เราเรียกว่า “นาหญ้า” นั้น ชาวบ้านจะอัดพื้นดินข้างล่างจนแน่นแข็ง อาจจะใช้ดินลูกรังถมแล้วบดอัดจนแน่นคล้ายลานคอนกรีต บริเวณโดยรอบนาหญ้า จะขุดเป็นคูคลองเล็ก ๆ สำหรับชักน้ำเข้ามารดหญ้า
เมื่อถึงเวลาจะทำนา ชาวนาจะใช้เครื่องสูบน้ำสูบเอาดินเลนจากท้องคลองฉีดพ่นให้ทั่วผืนนา เรียกว่าการฉีดเลน และเผอิญเหลือเกินว่าดินเลนใต้คูคลองบริเวณนี้มีอินทรีย์สารอุดมสมบูรณ์ เป็นอาหารชั้นเลิศของหญ้าอย่างพอเหมาะพอดี เมื่อฉีดเลนจนได้ชั้นดินเลนเพียงพอแล้ว ก็ถึงกระบวนการดำหญ้า กล่าวคือ ใช้หญ้าที่มีอยู่ ไม่ว่าหญ้านวลน้อย หญ้าญี่ปุ่น หรือหญ้ามาเลย์ ตัดออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ขนาดสัก 5 ซ.ม. แปะลงบนดินเลนในนาหญ้า ให้ห่างกันราวสักหนึ่งฟุต พอดำเสร็จก็ใช้ลูกกลิ้งเหล็กกลิ้งบดทับให้หญ้าติดแน่นกับดินเลน จากนั้นก็ทดน้ำเข้านา เร่งปุ๋ยให้หญ้าแตกกอเร็วจนเต็มพื้นที่ ระหว่างนั้นต้องให้น้ำและตัดหญ้าส่วนที่ยาวเกินไปออกเสียบ้าง เรียกว่าทำทุกวิถีทางเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของหญ้าให้เร็วที่สุด
เมื่อหญ้าแตกเต็มพื้นที่ ก็ใช้มีดคม ๆ ที่ดัดแปลงจากใบเลื่อยตัดเหล็กตัดหญ้าออกเป็นแผ่น ๆ แผ่นละครึ่งตารางเมตร แล้วใช้เครื่องมือที่ทำขึ้นเฉพาะแซะหญ้าออกจำหน่ายที่เล่ามาค่อนข้างละเอียดเช่นนี้ ก็เพื่อให้เห็นว่า หญ้าแต่ละแผ่นมีที่มาอย่างไร นาหญ้าเขาเร่งปุ๋ยเร่งน้ำกันอย่างไร หญ้าที่มาปูสนามหน้าบ้านของเราจึงเขียวขจีอย่างที่เห็นกันในวันแรก ๆ ที่เพิ่งปูหญ้าเสร็จคราวนี้กลับมาที่ คำถามข้างต้นดีกว่า หญ้าในสนามหน้าบ้านเริ่มเหลืองหลังจากปูไปได้ไม่ถึงเดือน มันจะตายไหม? จะแก้ไขอย่างไร?ก่อนจะตอบ ต้องถามกลับไปว่า ได้รดน้ำสนามหญ้าให้ชุ่มอย่างน้อยวันละสองครั้งหรือไม่? ถ้ารดแล้วหญ้ายังเหลืองเฉาอยู่อีก ก็สบายใจได้ครับ รดน้ำให้ชุ่มต่อไปอีกสักพัก หญ้าก็จะฟื้นตัวโดยทั่วไปเรามักปูสนามด้วยหญ้านวลน้อย เพราะราคาถูกกว่าหญ้าชนิดอื่น และหญ้านวลน้อยเป็นพันธุ์หญ้าพื้นเมืองของไทย ทนทานต่อภูมิอากาศบ้านเราได้ดีที่สุด แต่สาเหตุที่หญ้าเหลืองเฉาเหมือนหญ้าจะตายหลังจากปูไปได้สักพัก ก็เพราะหญ้ายังปรับตัวไม่ทัน จากที่เดิมเคยอยู่ในนาหญ้า มีน้ำเลี้ยงชุ่มฉ่ำ มีการให้ปุ๋ยและสารอาหารอย่างล้นเหลือ เมื่อปุบปับต้องมาอยู่ในสนามหน้าบ้าน ถึงจะรดน้ำชุ่มอย่างไรก็ไม่มีทางเทียบได้กับในนาหญ้า อีกทั้งรากของหญ้าที่เพิ่งปูก็ยังไม่ทันแทงลงดินในสนาม ทำให้หญ้าเหลืองเฉาอย่างที่เราเห็น

รดน้ำต่อไปครับ เพราะช่วงแรกนี้สำคัญมาก ให้เวลาหญ้าเขาได้ปรับตัวกับบ้านใหม่สักพัก ให้รากของเขาแทงลงดินและหาเลี้ยงลำต้นได้สักหน่อย คราวนี้แหละ เขาจะแตกใบอ่อนเขียวขจีจนตามตัดกันไม่ทันเชียวละ ต่อปัญหาข้อนี้จึงแนะนำว่า สนามหญ้าใหม่ ๆ อย่าเสียดายน้ำ ให้ขยันรดน้ำสนามให้ชุ่มอย่างน้อยวันละสองครั้ง ถ้าเป็นไปได้อาจรดน้ำถึงวันละ 3-4 ครั้งยิ่งดี อย่าไปสับสนกับการรดน้ำต้นไม้ที่เคยได้ยินมาว่า ไม่ควรรดน้ำตอนเที่ยง ๆ เพราะจะทำให้ต้นไม้สะบัดร้อนสะบัดหนาวตาย หญ้าในสนามไม่ใช่ต้นไม้ครับ ปลูกใหม่ ๆ น้ำต้องมาก และก็อย่าเพิ่งใจร้อนให้ปุ๋ยชนิดใด ๆ แก่หญ้าในสนามในช่วงนี้ เพื่อให้เขาปรับตัวให้ได้เสียก่อนอย่างน้อยสัก 2- 3 เดือน ต่อจากนั้นก็ค่อยเพลาการรดน้ำเหลือวันละครั้งหรือสองครั้งและค่อยเริ่มให้ปุ๋ย

สนามหญ้าที่เพิ่งทำเสร็จไม่เรียบ มีแอ่งบ้าง ดินทรุดเป็นหลุม เตรียมซื้อทรายหยาบแบบใช้ในการก่อสร้าง พร้อมกับปุ๋ยเทศบาลหรือที่เรียกว่า ปุ๋ยกทม. ถ้าหาไม่ได้ก็ใช้ปุ๋ยหมักทั่วไปสักสองสามถุง ไม่แนะนำให้ใช้ปุ๋ยคอกที่ทำจากขี้วัวขี้ควาย เพราะเจออยู่บ่อย ๆ ที่ในปุ๋ยคอกจะมีเมล็ดหญ้าชนิดอื่น ๆ เมื่อใส่ลงในสนามหญ้า ปรากฎว่ามีหญ้าแปลกประหลาดงอกแทรกขึ้นมา ต้องตามถอนตามทำลายในภายหลังเมื่อพบว่าสนามหญ้าบริเวณใด ดินทรุดตัวจนเป็นแอ่ง หรือเป็นหลุม ให้ใช้ทรายผสมกับปุ๋ยสัดส่วนอย่างละครึ่งถมบริเวณนั้นแล้วบดอัดด้วยลูกกลิ้ง หรือตบด้วยด้ามจอบให้แน่น แรก ๆ จะดูไม่สวย เพราะเหมือนสนามหญ้าเป็นรอยด่าง แต่พอรดน้ำให้ชุ่มฉ่ำไปสักพัก หญ้างอกข้ามาคลุมจนหมดก็จะได้สนามหญ้าที่สวยเหมือนเดิมแล้ว พูดถึงความราบเรียบของสนามอีกนิด ถ้าสังเกตให้ดี ตอนที่จ้างเขามาปูหญ้า คนที่มาปูหญ้าจะมีลูกกลิ้งเหล็กขนาดใหญ่มาด้วย พอปูหญ้าเสร็จ เขาจะใช้ลูกกลิ้งเหล็กที่มีน้ำหนักมาก ๆ กลิ้งบดทับสนามหญ้าให้แน่นและราบเรียบ แต่จะอย่างไรก็ตาม โอกาสที่สนามจะไม่ราบเรียบเนื่องจากถูกน้ำฝนหรือน้ำที่รดสนามกัดเซาะ หรือเพราะดินที่อยู่ด้านล่างทรุดตัวในภายหลังก็มักเกิดขึ้นได้เสมอถ้าไม่คิดอะไรมาก ก็แนะนำให้รอครับ รอไปสักปีครึ่งปี ดินในสนามจะมีการปรับสมดุลย์ของเขาเอง ไม่นานก็ราบเรียบอย่างที่เราอยากให้เป็น แต่ถ้าใจร้อน อยากให้เรียบเร็ว ๆ ก็คงต้องลงทุนหน่อย คือต้องซื้อหาหรือหยิบยืมลูกกลิ้งเหล็กแบบที่กล่าวถึงข้างต้นมาไว้ใช้งานสักอันหนึ่ง ก่อนใช้ก็รดน้ำสนามหญ้าให้ชุ่ม แล้วกลิ้งลูกกลิ้งทับไปทับมาเหมือนรถบดถนนสร้างถนนนั่นแหละครับ ลูกกลิ้งที่ว่า อาจดัดแปลงหล่อขึ้นใช้เอง โดยใช้ท่อคอนกรีตเส้นผ่าศูนย์กลางสัก 6 นิ้ว ใช้ท่อเหล็กหรือท่อ PVC ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้วเป็นแกนกลาง แล้วผสมคอนกรีตเทกรอกเข้าไป ให้ร้านที่รับจ้างอ๊อกเหล็กอ๊อกแกนและมือจับให้ ลูกกลิ้งประดิษฐ์เองแบบนี้ก็ใช้งานได้ดีเหมือนของมืออาชีพเช่นกัน คนรักสนามหญ้าส่วนใหญ่จะมีลูกกลิ้งชนิดนี้ติดบ้านไว้เสมอ แต่ถ้าหาไม่ได้ หรือไม่อยากทำให้วุ่นวาย ก็รดน้ำให้ชุ่มจนแฉะ แล้วยอมเลอะเทอะหน่อย ใช้ด้ามจอบตบอัดพื้นสนามให้เรียบ ก็พอจะแก้ไขปัญหาได้เช่นกัน

การให้ปุ๋ยสนามหญ้าหญ้าก็เหมือนต้นไม้อื่น ๆ คือต้องการแร่ธาตุในดิน แต่ดินที่ใช้ถมที่สร้างบ้านสมัยนี้ ส่วนใหญ่เป็นดินใต้บาดาล ได้มาจากบ่อดินที่ขุดเสียลึกท่วมหัวท่วมหู สารอาหารที่จำเป็นต่อหญ้าและต้นไม้อื่น ๆ ก็พลอยน้อยไปด้วย จึงจะเห็นว่า ตอนที่จ้างเขามาปูหญ้า คนปูหญ้าส่วนใหญ่มักจะเอาปุ๋ยเทศบาล หรือปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักโรยหน้าเสียก่อน แต่เมื่อหญ้าดูดกินอาหารจากปุ๋ยที่โรยหน้าไว้จนหมดแล้ว คราวนี้ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องเติมปุ๋ยให้กับดินเสียทีก็อีกนั่นแหละ แนะนำให้ใช้ปุ๋ยเทศบาลหรือปุ๋ยกทม. ถ้าหาไม่ได้ค่อยใช้ปุ๋ยหมัก (ส่วนปุ๋ยคอกหลีกเลี่ยงได้ก็หลีกเลี่ยงเถอะครับ ด้วยเหตุผลที่ว่ามาแล้ว) และถ้าขยัน อาจใช้น้ำหมักชีวภาพผสมน้ำในอัตราส่วนที่กำหนดไว้ข้างขวดรด หรือฉีดพ่นให้ทั่วสนามก็จะยิ่งดี เพราะจะช่วยปรับความสมดุลย์ของจุลินทรีย์ในดินได้อีกทางหนึ่ง ใส่ปุ๋ยชนิดใดชนิดหนึ่งที่ว่ามาเดือนละครั้งก็พอครับ ใช้มากเปลืองทั้งแรงทั้งเงินการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ควรเป็นตัวเลือกท้าย ๆ เพราะนอกจากสิ้นเปลืองแล้ว ยังมีผลข้างเคียงต่อดินในระยะยาวด้วย คือทำให้ดินกระด้าง แต่ถ้าอยากใช้เพราะเห็นผลทันใจวัยรุ่น ก็อาจใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 หรือที่เรียกว่าปุ๋ยยูเรีย ลักษณะเป็นเม็ดสีขาวขุ่น ๆ คล้ายเม็ดสาคูหว่านให้ทั่วสนาม แล้วรดน้ำตามให้ชุ่ม หรืออาจใช้สลับกับปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 16-16-16 หรือ 15-15-15 ที่หาซื้อได้ตามร้านต้นไม้หรือจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรทั่วไป หว่านบาง ๆ ให้ทั่วสนามก็ได้เช่นกัน แต่ไม่ควรใช้เกินปีละสองครั้ง จะทำให้ดินแข็งและกระด้าง

สนามหญ้าประการต่อมาถัดจากการใส่ปุ๋ยก็คือ การเติมดินให้กับสนามหญ้าครับพูดแค่นี้หลายคนอาจงง เพราะตั้งแต่ทำสนามหญ้ามาเป็นสิบปี บางคนอาจไม่เคยเติมดินเลย สำหรับคนที่ไม่พิถีพิถันกับความงดงามของสนามหญ้ามากนัก อาจจะผ่านเลยข้อนี้ไปก็ได้ แต่ถ้าต้องการสนามหญ้าที่สวยงาม น่าดูน่านั่งเล่น การเติมดินให้แก่สนามนับเป็นวิธีการดูแลสนามหญ้าที่จำเป็นอีกประการหนึ่งทุกครั้งที่เราตัดหญ้า เรามักเอาเศษหญ้าใส่เข่ง ใส่ถุงทิ้งไปครั้งละไม่น้อย เศษหญ้าที่เราทิ้งทำลายออกไปนั่นถามว่ามาจากไหน? ก็ต้องตอบว่ามาจากดินที่อยู่ในสนามบ้านเรานั่นเอง ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลของการเติมดินให้แก่สนามถ้าไม่พิถีพิถันอะไรมาก ก็เอาดินร่วน หรือง่ายที่สุดคือดินถุงที่มีขายอยู่ทั่วไปนั่นแหละ หว่านได้เลย หว่านให้ทั่วสนาม แล้วรดน้ำตาม วิธีนี้ในช่วงสองสามอาทิตย์แรกสนามหญ้าอาจดูสกปรกด้วยเศษดินสีดำ ๆ ที่ยังอาจติดอยู่ตามลำต้นและใบของหญ้า แต่สักพักเมื่อโดนน้ำที่รด หรือโดนฝนชะ ก็จะค่อย ๆ ละลายลงไปเอง บางคนอาจถือโอกาสนี้ ผสมปุ๋ยกทม. หรือปุ๋ยหมักหว่นไปพร้อมกับดินด้วย เป็นการให้ทั้งดินทั้งปุ๋ยปริมาณการใช้ดินก็ไม่ต้องมากครับ สนามหญ้าขนาด 100 ตารางเมตร ใช้ดินสัก 3-4 ถุงก็พอ หว่านบาง ๆ อย่าให้หนามาก เอาแค่พอทดแทนดินที่หายไปในแต่ละปีก็พอครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น